สืบสานภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
ผิวแพ้ง่าย (Sensitive skin) เป็นภาวะที่ผิวมีความไวต่อปัจจัยกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ง่าย เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เนื้อผ้าที่สวมใส่บางชนิด น้ำ หรือสภาพอากาศที่แห้งและเย็นซึ่งทำให้ผิวหนังขาดความชุ่มชื้น อาการของผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายนั้น ได้แก่ การเกิดผดผื่นคัน ตึงผิว แสบร้อน และผิวไหม้ โดยลักษณะของผื่นที่พบอาจมีลักษณะเป็นรอยแดง แห้งลอก หรือเกิดเป็นผื่นนูน อาการนี้สามารถพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย เนื่องจากในเพศหญิงยังพบว่าอาการระคายเคืองที่เกิดขึ้นในผิวแพ้ง่ายยังสัมพันธ์กับรอบประจำเดือนอีกด้วย
การป้องกันการเกิดการระคายเคืองจากผิวแพ้ง่าย
1. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดผื่นแพ้ เช่น การเลือกใช้เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ปราศจาก น้ำหอม สเตียรอยด์ สารกันเสีย และเหมาะกับประเภทของผิวหนัง ได้แก่ ผิวมัน ผิวแห้ง ผิวผสม
2. หลีกเลี่ยงการอาบน้ำที่บ่อยจนเกินไปเพราะอาจทำให้เกิดผิวแห้งได้ หมั่นทาครีมเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง
3. หลีกเลี่ยงสภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือหนาวจัด
4. ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่เนื้อโปร่งสบาย ระบายอากาศได้ง่าย เช่น ผ้าฝ้าย เป็นต้น
5. หลีกเลี่ยงการเกาบริเวณที่มีผื่นคันเพราะอาจทำให้มีแผลถลอกและผื่นลุกลาม
สำหรับศาสตร์ทางการแพทย์แผนไทยนั้น แนะนำให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารทะเล ของหมักดอง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งอาหารรสเผ็ด เพราะสิ่งเหล่านี้มีฤทธิ์กระตุ้นและทำให้มีอาการผื่นผิวหนังกำเริบยิ่งขึ้น อาจทายาเพื่อบรรเทาอาการคัน เช่น ยาเปลือกมังคุด ซึ่งจะช่วยลดผื่นและแก้อาการคันได้ดี ยาว่านหางจระเข้ช่วยลดอาการแสบร้อนบริเวณผิวหนัง หรืออาจใช้เหง้าขมิ้นชันล้างให้สะอาด ตำแล้วนำน้ำมาทาผิวเพื่อแก้อาการคันและทำให้ผิวชุ่มชื้นก็ได้เช่นกัน
ผิวแพ้ง่ายมีปัจจัยกระตุ้นทั้งภายใน ภายนอก และเป็นอาการที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต แต่สามารถป้องกันได้ด้วยวิธีการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยประยุกต์ยังได้แนะนำวิธีการเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย และการบรรเทาอาการด้วยการใช้ยาสมุนไพร
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ บัญชียาจากสมุนไพร (บัญชียาหลักแห่งชาติ )